วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

คณะกรรมการสถานศึกษา

รายนามคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
1. นายเกรียงศักดิ์ รักพานิชมณี ประธานกรรมการ
2. นายสังวร กรพิทักษ์ รองประธานกรรมการ
3. นายถวิล เนียมหอม กรรมการ
4. กำนันสำเนียง หมีทอง กรรมการ
5. นายหวาน ยอดแก้ว กรรมการ
6. พระครูบริหารขาณุลักษณ์ กรรมการ
7. พระมหาน้อม นมการี กรรมการ
8. นายธนิต นิธินันท์ศุภกิจ กรรมการ
9. นายเกียรติศักดิ์ บุญประเสริฐ กรรมการ
10. นายทวีป ปิ่นทอง กรรมการ
11. นายธวัช ฤกษ์หร่าย กรรมการ
12. นายฉัตรชัย มาฉาย กรรมการ
13. นายพรชัย ชุนณวงษ์ กรรมการ
14. นายสมศักดิ์ สิงห์เผ่น กรรมการ
15. นายจรัญ นาคเอี่ยม กรรมการและเลขานุการ

สภาพทั่วไปของสถานศึกษา

ลักษณะของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นชุมชนแบบชนบทกึ่งเมือง มีประชากรประมาณ 113,000 คน สถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ฝั่งทิศใต้ ของแม่น้ำปิง อยู่ติดที่ว่าการอำเภอขาณุวรลักษบุรี และอยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชรเขต 2 ประมาณ 25 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรประมาณ 77 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ และรับจ้างทั่วไปหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว นับถือศาสนาพุทธ ประเพณี/ศิลปวัฒนธรรม ท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ ประเพณีสงกรานต์ เก็บดอกไม้ พัทยาขาณุ ลอยกระทง การเล่นผีนางด้ง ผีนางกวัก สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง และนพพระเล่นเพลง

ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขาณุวิทยา


สภาพพื้นฐานของสถานศึกษา
ข้อมูลพื้นฐานทางกายภาพ
ข้อมูลด้านโรงเรียน
โรงเรียนขาณุวิทยา ตั้งอยู่เลขที่ 341 หมู่ 2 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี
จังหวัดกำแพงเพชร รหัสไปรษณีย์ 62130 โทรศัพท์ 055-779226 โทรสาร 055-779227
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชรเขต 2 เปิดสอนตั้งแต่ระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเนื้อที่ 72 ไร่ 3งาน 65 ตารางวา
ลักษณะของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นชุมชนแบบชนบทกึ่งเมือง มีประชากรประมาณ 113,000 คนสถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ฝั่งทิศใต้ ของแม่น้ำปิง อยู่ติดที่ว่าการอำเภอขาณุวรลักษบุรี และอยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชรเขต 2 ประมาณ 25 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรประมาณ 77 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับส่วนราชการอำเภอขาณุวรลักษบุรี โรงพยาบาลอำเภอขาณุวรลักษบุรี ฯลฯ
ทิศใต้ จดที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก จดที่ดินเอกชน
ทิศตะวันตก จดถนนสลกบาตร-ขาณุวรลักษบุรี
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ และรับจ้างทั่วไปหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว นับถือศาสนาพุทธ ประเพณี/ศิลปวัฒนธรรม ท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ ประเพณีสงกรานต์ เก็บดอกไม้ พัทยาขาณุ ลอยกระทง การเล่นผีนางด้ง ผีนางกวัก สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง และนพพระเล่นเพลง
ข้อมูลด้านอาคารเรียน โรงเรียนมีอาคารเรียน ดังนี้
อาคารแบบ 216 จำนวน 1 หลัง 16 ห้องเรียน สร้างเมื่อปี 2516
อาคารแบบ 216 ค จำนวน 1 หลัง 16 ห้องเรียน สร้างเมื่อปี 2522
อาคารแบบ 216ล (ป.29) จำนวน 1 หลัง 16 ห้องเรียน สร้างเมื่อปี 2536
โรงฝึกงานแบบ ฝ 102 จำนวน 2 หลัง 4 หน่วย สร้างเมื่อปี 2519 , 2523
หอประชุมแบบ 100/27 จำนวน 1 หลัง 1 หน่วย สร้างเมื่อปี 2543
ห้องน้ำห้องส้วมนักเรียนแบบ 6 ที่นั่ง จำนวน 6 หลัง 36 ที่นั่ง
โรงอาหาร ( ใช้อาคารชั่วคราวปรับปรุงโรงอาหาร ) จำนวน 1 หลัง 1 หน่วย
บ้านพักครู จำนวน 10 หลัง 10 หน่วย ( และอีก 6 หลังอยู่ในสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ โรงเรียนได้ขออนุญาตรื้อถอนเรียบร้อยแล้ว
แต่ยังไม่สามารถรื้อถอนได้เพราะไม่สามารถก่อสร้างทดแทนและจะทำให้ข้าราชการครูเดือดร้อน)

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไข้หวัดใหญ่2009

รู้จักโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009
โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีชื่อเรียกในประเทศต่างๆ หลายชื่อ คือ ไข้หวัดเม็กซิโก, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอชวัน เอ็นวัน 2009, ไข้หวัดใหญ่จากสุกร (Swine Influenza) เป็นต้น เป็นไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ ตามปกติมีการระบาดในหมูเท่านั้น สามารถพบได้ทั้งในหมูเลี้ยง และหมูป่า ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้ง H1N1, H1N2 และ H3N2 แต่บางครั้งหมูอาจมีเชื้อไข้หวัดอยู่ในตัวมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดการผสมกันของยีนได้ ทำให้เกิดเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถข้ามสายพันธุ์มาติดต่อยังมนุษย์ได้ เริ่มต้นจากการสัมผัสกับหมูที่เป็นโรค สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เริ่มแพร่ระบาดในประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั้น เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน และไม่เคยพบมาก่อน เนื่องจากเป็นการผสมกันของสารพันธุกรรมไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์, ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากหวั่นวิตกว่า เชื้อ H1N1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น
วิวัฒนาการไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009
ก่อนที่ไข้หวัดหมูดั้งเดิมจะกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ดั้งเดิม พบมาตั้งแต่ ค. ศ.1918-1919 ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก จนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุ 20-40 ปี และตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จากนั้นโรคไข้หวัดหมูได้แพร่ระบาดในช่วงต่างๆ ก่อให้เกิดโรคในคนอยู่มากกว่า 50 ราย โดยผู้ป่วย 61% มีประวัติสัมผัสหมู และมีอายุเฉลี่ย 24 ปี หลังจากนั้นใน ค.ศ.1974 ไข้หวัดหมูได้แพร่ระบาดในค่ายทหาร (Fort Dix) ที่รัฐนิวเจอร์ซี่ มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยที่อีก 230 ราย ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีประวัติสัมผัสหมู ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการพัฒนาจนมีการติดต่อจากคนสู่คน ต่อมาใน ค.ศ.1988 หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่ง เสียชีวิตในรัฐวิสคอนซิน และมีประวัติสัมผัสหมู จึงเกิดการสงสัยว่าไข้หวัดหมูอาจไม่ใช่พันธุ์หมูล้วน (classic H1N1) จนกระทั่งปี ค.ศ.1998 จึงพิสูจน์พบว่า หมูที่เลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา มีไวรัสไข้หวัดหมูกลายพันธุ์ โดยมีพันธุกรรมผสมระหว่างหมู คน และนก เกิดสายพันธุ์ผสม (Triple assortant virus) H3N2, H1N2, และ H1N1 (วารสารโรคติดเชื้อ JID 2008) และสายพันธุ์ผสมนี้ยังพบได้ในเอเชีย และแคนาดา
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 ได้พบไข้หวัดหมูผสมสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ที่ประเทศสเปน จากหญิงอายุ 50 ปีที่ทำงานในฟาร์มหมู โดยมีอาการไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คันคอ คันตา และหนาวสั่น แต่อาการเหล่านี้หายไปได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใดๆ จึงไม่มีการคาดการณ์ว่า ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่จะเป็นอันตรายมากนักจนกระทั่งล่าสุด เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู หรือที่มีการบัญญัติชื่อใหม่ว่า ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ลามไปทั่วโลก และมีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่า โรคนี้สามารถแพร่กันระหว่างคนสู่คน เนื่องจากเชื้อโรคได้วิวัฒนาการอย่างสมบูรณ์แล้ว
การติดต่อโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009
เชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีการติดต่อเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนทั่วไป และเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยระยะฟักเชื้อของ ไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้นอยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อมากระยะฟักตัวก็จะเร็ว ซึ่งทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยด้วยว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้เชื้อโรคจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นด้วยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด รวมทั้งติดต่อกันทางลมหายใจ หากอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และสามารถติดต่อได้จากมือ หรือสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทั้งนี้เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา ซึ่งสามารถแพ้เชื้อได้ ตั้งแต่ผู้ติดเชื้อยังไม่ปรากฎอาการ หรือหลังจากปรากฎอาการไข้แล้ว ขณะที่นักวิชาการขององค์การอนามัยโลก ระบุไว้ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีอัตราการแพร่ระบาดมากกว่าโรคซาร์ส และไข้หวัดนก แต่อัตราการเสียชีวิตมีน้อยกว่า คืออยู่ที่ร้อยละ 5-7 ขณะที่โรคไข้หวัดนกมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009
เมื่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะปรากฎอาการที่คล้ายกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่มีอาการรุนแรงกว่าและรวดเร็วกว่า นั่นคือ มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ปอดบวม เบื่่ออาหาร บางรายอาจท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต จึงทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา นอกจากนี้อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ระยะติดต่อ
ระยะติดต่อ
หมายถึงระยะเวลาที่เชื้อสามารถติดต่อไปยังผู้อื่น ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วันก่อนเกิดอาการ ห้าวันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้ นาน 10 วัน
โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดอักเสบตามมา รวมถึงหัวใจวาย และอาจจะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งโรคแทรกซ้อนนี้สามารถคร่าชีวิตได้ หากผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และติดยาเสพติด เป็นต้น
ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์เมื่อไร
ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่ต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้วพบว่าตัวเองมีไข้สูง 38.5 องศา มีไข้นานเกิน 7 วัน เจ็บหน้าอก ปวดท้อง อาเจียน มีจุดเลือดตามตัว ตาเหลือง เจ็บคอมาก มีเสมหะสีเขียวๆ เหลืองๆ ผิวสีม่วง หรือได้พยายามรักษาตัวเองแล้ว แต่ยังไม่หาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ด้วยวิธี PCR ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้สามารถหาเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้ภายใน 24 ชั่วโมง และควรเข้ารับการตรวจรักษาภายในห้องตรวจพิเศษ Negative Pressure เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อไวรัสต่อไปยังผู้อื่น
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009
องค์การอนามัยโลก ระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ยังไม่สามารถป้องกัน และรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ได้ แต่จากผลการทดสอบในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ คือ 1. "โอเซลทามิเวียร์" (ชื่อทางการค้าว่า ทามิฟลู) เป็นยาที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็กอ่อนถึงผู้ใหญ่ มีตัวยาทั้งที่เป็นเม็ดและเป็นน้ำ แต่มีผลข้างเคียง ที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนั้นในเด็กอาจมีอาการปวดท้อง เลือดกำเดาออก ปัญหาเรื่องหู และโรคตาแดง 2."ซานามิเวียร์" (ชื่อทางการค้าว่า รีเลนซา) เป็นยาที่ใช้ได้เฉพาะในผู้ป่วยอายุมากกว่า 5 ปี และไม่แนะนำให้ใช้ในคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด หรือผู้ป่วยในสถานพยาบาล และผู้ที่มีอาการแพ้สารแลคโตส ตัวยามีลักษณะเป็นเบบชนิดพ่นเท่านั้น ผลข้างเคียงของยานี้คือ เพิ่มความเสี่ยงของอาการหายใจลำบาก ในเด็กวัยเล็กและวัยรุ่น อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากอาการชัก อาการสับสน ความประพฤติผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากไข้หวัดใหญ่ในระยะแรก ทั้งนี้ ยาทั้งสองชนิด สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้แตกตัว แต่ต้องรับยาภายใน 48 ชั่วโมง เพราะมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ได้อีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกำลังเร่งผลิตวัคซีนเพื่อป้องกัน และรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้อยู่ ซึ่งยังคงต้องใช้เวลา อย่างน้อย 5-6 เดือน เพื่อให้ได้วัคซีนที่ใช้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009
โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งวิธีการป้องกันการติดต่อของโรคได้ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพร่างกายให้ แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด และล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นหวัด ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะเข้าไปผสมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลในตัวผู้ป่วย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเชื้อใหม่ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดื้อยาเพิ่มขึ้น และแพร่ระบาดจากคนสู่คนมากขึ้น
ต่อไป นอกจากนี้หากใครที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และมีไข้สูง ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อจะได้เฝ้าระวังและรักษาได้ทัน

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

งานวิจัยในชั้นเรียน

ความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน
จาก พ.ร.บ.การศึกษา2542 มาตรา 24การจัดการเรียนรู้ (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน
และอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งความสามารถใช้ในการวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการต่างๆ การวิจัยในชั้นเรียนมีความสำคัญต่อวงการวิชาชีพครูเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากครูจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียน การพัฒนาพฤติกรรมผู้เรียน การเพิ่มสัมฤทธิผลการเรียน และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ครูอาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้วิจัย เพื่อมีสาวนร่วมในการพัฒนาการสอน
การเรียนรู้ของผู้เรียนและการพัฒนาวิชาชีพครูเพิ่มขึ้น
ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียน
1. การวิจัยทางการศึกษา (Educational Research)หมายถึง การเสาะแสวงหาความรู้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ การออกแบบวิจัยเชิงทดลอง กึ่งทดลอง หรือการวิจัยแบบผสมผสาน
2. การวิจัยปฏิบัติการทางการศึกษา (Action Research in Education)หมายถึง การค้นคว้าหาคำตอบที่เชื่อมโยงทฤษฎีทางการศึกษาสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษา โดยการคิดสะท้อนการสอนของครู มีลักษณะสำคัญคือ การปรับปรุงการปฏิบัติงานการศึกษา เป็นการเพิ่มพลังความสามารถของครู
และเป็นความก้าวหน้าในวิชาชีพทางการศึกษา
3. การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research)หมายถึง การสืบสอบเชิงธรรมชาติจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนการเรียนรู้ หรือ พฤติกรรมผู้เรียน โดยที่ครูเป็นผู้วิจัยในสิ่งที่ครูปฏิบัติอยู่ มีผู้เรียน ผู้บริหาร ครูในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย
ลักษณะสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน
1. ครูเป็นผู้วิจัยเอง
2. ผลการวิจัยสามารถแก้ปัญหาผู้เรียนได้ทันเวลา และตรงจุด
3. การวิจัยช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างทฤษฎี และการปฏิบัติ
4. การเพิ่มศักยภาพการคิดสะท้อนของครูต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
5. การเพิ่มพลังการเป็นครูในวงการการศึกษา
6. การเปิดโอกาสให้ครูก้าวหน้าทางวิชาการ
7. การพัฒนา และทดสอบการแก้ปัญหาในชั้นเรียน
8. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเรื่องการเรียนการสอน และทางแก้ปัญหา
9. การนำเสนอข้อค้นพบ และการรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มครู
10. การวิจัยและพัฒนาเป็นวงจร เพื่อทำให้ข้อค้นพบสมบูรณ์ขึ้น
การดำเนินการวิจัย
ผู้ที่ไม่เคยชินกับการวิจัยมักจะมองการวิจัยเป็นสิ่งที่ยาก ต้องใช้เวลาในการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การออกแบบวิจัย การสร้างเครื่องมือสำหรับการวิจัย
การใช้สถิติในการวิเคราะห์ การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ดังนั้นเพื่อให้การวิจัยในชั้นเรียนเป็นเรื่องง่ายขึ้น จึงขอเสนอแนะแนวทางที่เริ่มจากการฝึกวิจัยไปจนถึงการวิจัยที่มีลำดับขั้นตอนยุ่งยากขึ้น โดยพิจารณาวัตถุประสงค์และผลวิจัยที่จะนำไปใช้
การเริ่มต้นการวิจัย
1. กำหนดหัวข้อของการวิจัย หัวข้อของการวิจัยในชั้นเรียนเป็นเรื่องของการปรับปรุง พัฒนา เช่น ควรมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบใดที่จูงใจให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียน จะมีวิธีการพัฒนาพฤติกรรมผู้เรียนให้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้อย่างไร มีวิธีการเพิ่มสัมฤทธิผลการเรียนของผู้เรียนได้อย่างไร และการสร้างบรรยากาศ
การเรียนรู้แบบใดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบเขตหัวข้อที่สนใจแบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
1.1 ด้านผู้เรียน ขอบเขตที่ค้นคว้าวิจัย เกี่ยวกับผู้เรียนแยกเป็นด้านย่อยๆได้คือ 1) เรื่องการเรียน ทำไมนักเรียนคนนี้ / กลุ่มนี้จึงมีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนสูงหรือต่ำ ทำไมผู้เรียนจึงไม่ตั้งใจเรียน ไม่ยอมทำแบบฝึกหัด ไม่ส่งงาน ฯลฯ 2) เรื่องพฤติกรรมผู้เรียน เช่น ผู้เรียนที่ชอบแกล้งเพื่อน ชกต่อย ทะเลาะวิวาท
การเข้าชั้นเรียนสาย
1.2 ด้านวิธีการสอน การสอนแบบใดที่ผู้เรียนพึงพอใจ การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทำให้ผู้เรียนพัฒนาด้านใดบ้าง การใช้สื่อแบบใดจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ
บทเรียนได้ดียิ่งขึ้น ฯลฯ
1.3 ด้านผู้สอน ผู้เรียนต้องการการสอนที่มีคุณลักษณะอย่างไร พฤติกรรมแบบใดของครูที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างดีที่สุด ฯลฯ
1.4 ด้านแหล่งเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ประเภทใดกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน การจัดตารางเรียนช่วงเช้าและช่วงบ่ายมีผลต่อพฤติกรรมการเรียนวิชาคณิตศาตร์
หรือไม่ การศึกษายังแหล่งเรียนรู้มีปัญหาอุปสรรค และได้ผลดีต่อการเรียนอย่างไร ฯลฯ
2. การฝึกสังเกตและบันทึก ผู้เริ่มวิจัย ต้องฝึกฝนการสังเกต และการจดบันทึกโดยเริ่มจากเหตุการณ์ประจำวันในชั้นเรียน ผู้วิจัยฝึกการจดง่ายๆทุกวันหลังจากเลิการสอน ครูควรฝึกการสังเกต และจดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ทุกวัน เพื่อให้เคยชินกับการมองสถานการณ์หรือผู้เรียนอย่างวิเคราะห์ทุกครั้งที่จดเหตุการณ์
ต้องพยายามคิดสะท้อน เพื่อหาเหตุผล หรือวิธีการตลอดจนทฤษฎีทางการศึกษา
3. วางแผนการวิจัย การศึกษางานวิจัยจะเป็นที่จุดใด มีขอบเขตพียงใด และใช้เวลาในการศึกษาเท่าใด
สำรวจปัญหา
กำหนดหัวข้อ
วางแผน
ดำเนินการ
เขียนข้อค้นพบ
สะท้อนความคิด
นำเสนอ
4. การดำเนินการวิจัย การดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยจะต้องพิจารณาว่าจะเก็บข้อมูลประเภทใด จึงตอบคำถามการวิจัยที่กำหนดไว้ได้แหล่งข้อมูลมาจากไหน จะได้กรอบคำถามอย่างไรจึงจะช่วยให้คิดวิเคราะห์ได้ถูกต้อง การเก็บข้อมูลได้แล้ว ท่านเรียนรู้อะไรใหม่จากข้อมูลที่ได้ ผลจากการเรียนรู้ให้ประโยชน์ต่อผู้เรียนของท่านหรือสำหรับวงการวิชาชีพครูอย่างไร ท่านมีหลักทางการศึกษาในการวิเคราะห์ข้อมูลท่านวิจัยได้หรือไม่ สิ่งที่ท่านพบเป็นการปิดช่องว่างระหว่างทฤษฎี
และการปฏิบัติหรือเปล่า
5. การเขียนข้อค้นพบ หากเป็นการเพิ่มพูนข้อคิดเห็น ความรู้ที่ประมวลได้ จากการปฏิบัติการของครู ก็อาจเขียนในรูปของการอธิบายปรากฏการณ์ตามแผนการวิจัยของครู
6. การสะท้อนความคิด ลักษณะเด่นของการวิจัยในชั้นเรียน คือการสะท้อนความคิดที่ได้จากข้อค้นพบ ความคิดที่ได้อาจเป็นการนำเสนอหลักการใหม่ทางการศึกษา ดังนั้นจะต้องฝึกฝนการสะท้อนความคิดให้ชัดเจนในผลงานนั้น
7. การขยายผลการวิจัยสู่ชุมชน โรงเรียน/กลุ่มโรงเรียนจะต้องจัดเวทีให้ครูได้เสนอผลการวิจัย และช่วยให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ครูได้พัฒนาข้อค้นพบดีขึ้น
สรุปการวิจัยในชั้นเรียนเป็นการสืบสอบเชิงธรรมชาติ ซึ่งพึ่งพิงเนื้อหาสาระของรายวิชาที่สอน โดยครูเป็นผู้วิจัย งานที่ครูปฏิบัติอยู่ในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการสอน การเรียนรู้ และผู้เรียนอันนำไปสู่ความก้าวหน้า การวิจัยในชั้นเรียนต้องมีลักษณะสำคัญคือ ผลการวิจัยเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสิทธิภาพการเรียนการสอน การพัฒนาผู้เรียน ความคิดสะท้อนในการวิจัยตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงการครู
การเขียนโครงร่างงานวิจัยในชั้นเรียนส่วนประกอบที่สำคัญ
1. ชื่อเรื่องงานวิจัย ชื่อเรื่องควรสื่อความหมายได้ดี กะทัดรัด มีความเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่ศึกษา
2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา เขียนจากภาพภาพกว้างมาสู่ภาพเล็ก เชื่อมโยงปัญหาเขียนให้ตรงประเด็น กระชับเป็นเหตุเป็นผล มีการอ้างอิงการวิจัยเพื่อให้น่าเชื่อถือ
3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ให้สอดคล้องกับหัวข้อการวิจัย อยู่ในขอบข่ายของประเด็นปัญหาการวิจัยที่กำหนดไว้อาจมีข้อเดียว หรือหลายข้อก็ได้
4. สมมติฐานการวิจัย ควรเขียนให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ใช้ภาษาง่าย มีความหมายชัดเจนสอดรับกับวัตถุประสงค์ที่
กำหนดให้ และชี้ทิศทางของการวิจัยหรือตัวแปร
5. ประโยชน์ของการวิจัยหรือผลที่คาดว่าจะได้รับ ควรเขียนเป็นข้อ ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการทำวิจัย หรือการนำผลจากการวิจัยไปใช้
6. ขอบเขตของการวิจัย เช่น ตัวแปร ระยะเวลาที่ทำการวิจัย กลุ่มประชากร
7. ข้อตกลงเบื้องต้น เพื่อทำความตกลงไว้ก่อนว่าสิ่งใดที่ไม่ได้ทำการศึกษาในการวิจัยดังกล่าว
8. นิยามศัพท์ เพื่ออธิบายความหมายของคำศัพท์ที่ใช้ในการวิจัยเพื่อให้เข้าใจได้ตรงกัน เช่น นักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
9. การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การเขียนผลจาการศึกษาค้นคว้า ควรเขียนในลักษณะสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นกรอบการวิจัยหรือปัญหาการวิจัยและเขียนแหล่งอ้างอิงให้ชัดเจน
10. วิธีดำเนินวิจัย ระบุถึงวิธีการดำเนินการวิจัย
ประชากรกลุ่มตัวอย่าง มีเกณฑ์การคัดเลือกหรือได้มาอย่างไร ขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่าใด
ตัวแปร ระบุตัวแปรต้น ตัวแปรตามให้ชัดเจน
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ระบุวิธีการเก็บการบันทึกข้อมูล ระยะเวลา หรือช่วงเวลา สถานที่ และผู้ดำเนินการเก็บข้อมูล
เครื่องมือวิจัย ระบุชนิด เครื่องมือที่ใช้ การได้มาของเครื่องมือ พัฒนาขึ้นเอง หรือใช้ของใคร ประสิทธิภาพของเครื่องมือ และวิธีใช้เครื่องมือ
การวิเคราะห์ข้อมูล ระบุวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลและผลที่ได้จาการวิเคราะห์ข้อมูล
การนำเสนอรายงาน ระบุว่าวิธีการนำเสนอรายงานว่าจะใช้ตาราง แผนภูมิ หรือความเรียง
11. ปฏิทินปฏิบัติงาน เพื่อวางแผนการทำงานตามขั้นตอนการทำวิจัย และการกำหนดระยะเวลาควรมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ
12. เอกสารอ้างอิง ระบุถึงเอกสารต่างๆที่ใช้ เช่น งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ หรือข้อมูลจากแหล่งต่างๆที่ผู้วิจัยได้นำมาอ้างอิงที่ได้รับการยอมรับ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ขาณุวรลักษบุรี, กำแพงเพชร, Thailand
ครูชำนาญการ โรงเรียนขาณุวิทยา ต.แสนตอ อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร

ผู้ติดตาม